ฐานปรัชญาไทยจากเบคอน

ศ.กีรติ บุญเจือ
ราชบัณฑิต

การศึกษาปรัชญาได้พัฒนาวิจัยการวิเคราะห์ วิจารณ์ และสังเคราะห์ เจาะลึกได้มากพอสมควร หากเราลองนำแนวทางการพัฒนาดังกล่าวมาค้นหารากเหง้าของปรัชญาไทย โดยเริ่มจากความคิดของฟรังซิส เบคอน (Francis Bacon ๑๕๖๓-๑๖๒๖) นักปรัชญาอังกฤษสายประสบการณ์นิยมที่สังเกตข้อมูลได้ลุ่มลึก และการตีความอันเฉียบคมของนักปรัชญาฝรั่งเศสสายเหตุผลนิยมนามว่าเรอเน เดส์การ์ต (Rene Descartes ๑๕๙๖-๑๖๕๐)

ฟรังซิส เบคอน (Francis Bacon  ๑๕๖๑-๑๖๒๖) ได้สังเกตจากเกณฑ์ความจริงของโซเครติส (Socrates ๔๖๙-๓๙๙) ที่ว่า คนเรามีโครงสร้างของปัญญาเหมือนกัน จึงน่าจะรู้อะไรเป็นความจริงตรงกัน แต่เนื่องจากมีกิเลสมาบิดเบือน ทำให้ตัดสินความจริงไปตามความต้องการของกิเลส ทางแก้ไขก็คือ ต้องอบรมพัฒนาจิตให้หมดกิเลสด้วยวิธีเพ่งพินิจ (contemplation) ตัดกิเลสให้เหลือแต่ความจริง แต่เบคอนสังเกตจากประวัติความคิดของยุคกลางพบว่านักพรตของศาสนาคริสต์จำนวนมากปฏิบัติการเพ่งพินิจอย่างเชื่อได้ว่าหมดกิเลสจนได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ (canonization) ก็มี  แต่ท่านเหล่านั้นก็สอนไม่ตรงกันและขัดแย้งกัน จึงสรุปว่ามีกิเลส ๑ ใน ๔ เป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุความจริงด้วยปัญญามนุษย์ ได้แก่

  1. Idol of the Tribe เทวรูปแห่งตระกูล ได้แก่ความเชื่อที่ถ่ายทอดมากับสายโลหิตสืบตระกูล
  2. Idol of the Den เทวรูปแห่งถ้ำ ได้แก่ความเชื่อที่ได้มาจากการศึกษาอบรม
  3. Idol of the Market-place เทวรูปแห่งตลาดนัด ได้แก่ความเชื่อที่แฝงมากับภาษาที่คุ้นเคย
  4. Idol of the Theater เทวรูปแห่งโรงละคร ได้แก่ความเชื่อที่ถือเป็นประเพณีเพื่อการปฏิบัติต่อ ๆ กันมาในระดับวัฒนธรรม

เมื่อนำมาลองศึกษาวิจัยเชิงประยุกต์สำหรับสังคมไทย ดังนี้

ปรัชญาไทยที่ได้จากเทวรูปแห่งตระกูล

คนไทยมีเชื้อสายมาจากตระกูลต่าง ๆ เช่น ไทยใหญ่ จีน รามัญ ขแมร์ ญวน จากสายเลือดของพลเมืองไทยจึงปรากฏความโน้มเอียงที่จะยอมรับแนวคิดแบบพหุนิยม (pluralism) นั่นคือถือนโยบายแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง (unity in diversity)

ปรัชญาไทยที่ได้จากเทวรูปแห่งถ้ำ

นโยบายการศึกษาของชาติไทยมีหลักฐานว่าปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ใหม่ ๆ เช่น การสนับสนุนให้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก แต่ผู้ที่จบการศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่รู้จักปรัชญาไทย จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ปรัชญาไทยในหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาเอก เช่น ปรัชญาไทย ๑ วิชา และปรัชญาสากลสัก ๑ วิชา ก่อนจะเรียนจบหลักสูตร

ปรัชญาไทยที่ได้จากเทวรูปแห่งตลาดนัด

คนไทยทุกคนมีภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาในตระกูลอัลไต ทำให้คนไทยมีความเฉียบคมด้านสุนทรีย์จนเป็นผู้นำในเกือบทุกเรื่อง แต่เราก็ประสงค์ (need) รักษาระเบียบกฎเกณฑ์ในเรื่องที่ต้องการความละเอียดละออจากการใช้ภาษาในตระกูลอารยัน (เช่น บาลี สันสกฤต กรีก ละติน อังกฤษ) เป็นหลัก เป็นหน้าที่ของนักปรัชญาไทยที่จะสร้างความลงตัวใน ๒ ด้านนี้ให้ได้ในวิถีชีวิตไทยที่พึงปรารถนา

ปรัชญาไทยที่ได้จากเทวรูปแห่งโรงละคร

ประเพณีทุกอย่างที่ปฏิบัติกันเป็นล่ำเป็นสันบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นประเพณีดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในถิ่นนี้ หรือนำเข้ามาและปฏิบัติกันเป็นปกติ ย่อมมีส่วนสร้างความเชื่อในจิตใจของพลเมืองไทยไม่มากก็น้อย

จากแนวคิดดังกล่าวเทวรูปคือรากเหง้าของแต่ละคนและแต่ละหมู่เหล่าที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน การหารากเหง้าตามเทวรูป ๔ ของเบคอนน่าจะช่วยให้เข้าใจรากเหง้าของของพลเมืองไทยปัจจุบัน และเราหารากเหง้าปรัชญาจากเนื้อในตนของพลเมืองไทย ไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือไม่เหมือนกับของชนชาติใด เพื่อชี้แจงให้เพื่อนร่วมชาติได้ตระหนักถึงธาตุแท้ของตนเอง เพื่อเข้าใจ รัก ตระหนักถึงคุณค่าอันพึงหวงแหนและช่วยกันพัฒนาต่อไปด้วยการนำเอาส่วนดีออกมาใช้ รู้แก้ไขในสิ่งผิด ให้เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยในปัจจุบัน เราจึงจะไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →

One thought on “ฐานปรัชญาไทยจากเบคอน

  1. Pingback: 2limitation

Comments are closed.