จิตวิทยาการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

รศ. ดร.ประจักษ์ ปฏิทัศน์
ภาคีสมาชิก

ความยากจนคือองค์รวมทั้งหมดของผลลัพธ์ที่เกิดจากพลวัตรการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสภาพแวดล้อมที่บุคคลดำเนินชีวิต คนยากจนเพราะขาดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการประกอบอาชีพอย่างเหมาะสม และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้สำเร็จอย่างยั่งยืน รัฐจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม โดยมุ่งเน้นที่การปรับแก้พฤติกรรมการประกอบอาชีพของคนยากจน และภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความยากจนทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันส่งเสริมการเรียนรู้และประคับประคองคนยากจนให้สามารถปรับตัวอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ กลายเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีแนวทางทำได้หลายแนวทาง แต่แนวทางการพัฒนาคนยาจนให้มีชุดความคิดการเป็นผู้ประกอบการโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะส่งผลทำให้คนยากจนสามารถดิ้นรนหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ด้วยตัวเอง และยังป้องกันมิให้บุคคลกลับเข้าสู่วงจรความยากจนซ้ำอีก อย่างยั่งยืน

ภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความยากจน มีอย่างน้อย  ๓ ภาคส่วน ที่ถือเป็นต้นตอทำให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำซ้ำซากในสังคมไทย ได้แก่ ๑) คนยากจน ควรถูกปรับแก้กระบวนการรู้คิด โดยเสริมสร้างชุดความคิดการเป็นผู้ประกอบการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อบงการพฤติกรรมหรือท่าทีเชิงมโนทัศน์ของคนยากจน ให้ยอมรับหรือโต้ตอบสภาวะความยากจนที่ตนกำลังเผชิญหน้า โดยเชื่อว่าตนจะหลุดพ้นจากความยากจนได้แน่นอน ถ้าหากยอมรับความเสี่ยงในการริเริ่มลงมือประกอบกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จอย่างพอประมาณตามศักยภาพกำลังความรู้ความสามารถของตน ด้วยความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันภายในตนเองที่ดี ๒) รัฐ รวมถึงระบบและกลไกที่รัฐใช้แก้ปัญหาความยากจน ควรถูกปรับแก้กระบวนการรู้คิด โดยสร้างชุดความคิดขึ้นใหม่ว่า “คนยากจนส่วนใหญ่เป็นคนเก่งคนดีที่มีศักยภาพในตนเอง” รัฐควรพัฒนาคนยากจนให้สามารถเป็นผู้ประกอบการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยคนยากจนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพ โดยไม่คาดหวังให้คนยากจนทำอะไรเกินตัว สามารถดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และมีภูมิคุ้มกันความยากจนจากภายในตนเอง ซึ่งจะทำให้คนยากจนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนอย่างยั่งยืน กลายเป็นพลังร่วมในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และ ๓) คนไทยทุกคน ควรถูกปรับแก้กระบวนการรู้คิด โดยสร้างชุดความคิดขึ้นใหม่ว่า “ประเทศไทยทั้งระบบมีคนยากจนเป็นส่วนประกอบหนึ่ง การละทิ้งคนไทย จำนวนประมาณ ๑๐.๗๐ ล้านคน ให้ตกอยู่ในสภาวะความยากจน ย่อมสร้างผลกระทบในด้านลบ ป้อนกลับเข้าสู่สังคมไทยอย่างเป็นองค์รวมทั้งหมด คนไทยทุกคนจึงต้องร่วมแรงร่วมใจ พัฒนาศักยภาพคนยากจนให้กลายเป็นพลังร่วม ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้นทั้งระบบ บรรลุเป้าหมายการเป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไปพร้อม ๆ กัน

การพยายามแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการให้เงินช่วยเหลือรายเดือน การพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการ การปรับปรุงกฎหมาย หรือการกระจายโครงสร้างพื้นฐาน เป็นมาตรการที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้อย่างยั่งยืน เพราะตามทฤษฎีการวางเงื่อนไขการกระทำ (Skinner, ๑๙๓๘; ๑๙๖๖) ผลประโยชน์ที่รัฐให้แก่คนยากจนแบบให้เปล่าเช่นนี้ ถือว่าเป็นรางวัลที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ของคนยากจน ทำให้คนยากจนที่ได้รับการช่วยเหลืออยากจนต่อไป เพื่อทำให้ตนยังคงมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐแบบให้เปล่าเรื่อยเช่นนี้ไป รัฐจึงควรทบทวนวิธีการช่วยเหลือคนยากจนแบบให้เปล่า โดยปรับเปลี่ยนประเด็นการวางเงื่อนไขว่า จาก “ถ้าจน รัฐจะให้การช่วยเหลือ” เป็น “คนยากจนที่มุมานะพยายามพัฒนาตนเอง ประกอบกิจการงานต่าง ๆ อย่างพอประมาณตามศักยภาพกำลังความรู้ความสามารถของตน ด้วยความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันภายในตนเองที่ดี รัฐจะให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จนกว่าจะสามารถ หลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้อย่างยั่งยืน”

สรุปประเด็นเป้าหมายการทำงาน เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมตามแผนการแก้ปัญหาความยากจน (Ajzen, ๑๙๙๑) โดยการเสริมสร้างชุดความคิดการเป็นผู้ประกอบการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่คนยากจน ได้ ๔ แนวทาง ประกอบด้วย

  1. การพัฒนาคนยากจนให้มีเจตคติที่ดีต่อการเป็นผู้ประกอบการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพร้อมที่จะต่อสู้ดิ้นรนด้วยความมานะอดทนจนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนด้วยตนเอง
  2. การสร้างบรรทัดฐานในกลุ่มคนยากจนให้ยอมรับการเป็นผู้ประกอบการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการต่อสู้ดิ้นรนด้วยความมานะอดทนจนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนด้วยตนเอง
  3. การทำให้คนยากจนรับรู้และเชื่อมั่นว่าตนสามารถเป็นผู้ประกอบการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลุดพ้นจากวงจนความยากจนด้วยตนเองได้อย่างแน่นอน
  4. ส่งเสริมคนยากจนให้เกิดความตระหนักในความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นผู้ประกอบการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และต่อสู้ดิ้นรนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนด้วยตนเอง

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →

2 thoughts on “จิตวิทยาการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

  1. Pingback: 1paroxysm
  2. Pingback: custom writing

Comments are closed.