ถึงเวลาที่เด็กไทยควรเติบโตไปตามที่เขาชอบ ถนัด และสนใจ

ศ. ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
ภาคีสมาชิก

ปัจจุบันการเรียนการสอนในระบบการศึกษาของประเทศไทย ส่งผลให้เด็กเรียนอย่างไม่มีความสุข ไม่ได้พัฒนาความถนัดและความสนใจของตนเอง ความแตกต่างของเด็กไม่ได้รับความสนใจและผลักดันให้เกิดขึ้นในการศึกษา เด็กไม่มีโอกาสคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่แสดงออกที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม ผลเสีย คือเราจะหานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ยากในสังคมไทย และประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้นำในอาเซียนได้ยาก  ปัญหาเหล่านี้มีส่วนมาจากพฤติกรรมการสอนของครูไทยที่ครูเป็นคนกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน และการดำเนินการสอนทั้งหมด แต่นักวิชาการเห็นตรงกันว่าผู้เรียนมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งความพร้อม ความสนใจ และลักษณะของผู้เรียน สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จึงควรส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีพัฒนาทางจิตตปัญญาตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนา โดยผู้สอนควรเข้าใจลักษณะความแตกต่างของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ เช่น สติปัญญา ความสามารถ ความพร้อม ความสนใจ ความชอบ ความถนัด วิธีเรียนรู้ ดังนั้น ผู้สอนต้องทำความรู้จักผู้เรียนที่ตนเองสอนให้ละเอียดรอบด้าน ให้ชัดเจนทุกแง่มุม ทุกคนและทุกมิติ หลังจากนั้นจึงการปรับเปลี่ยนเนื้อหา (Contents) กระบวนการ (Process) ผลผลิต (Products) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ให้สอดคล้องกับผู้เรียนเพื่อให้เด็กเติบโตได้ตามที่เขาถนัด สนใจและเต็มตามศักยภาพ รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเติบโตตามความถนัดและสนใจ และสร้างวัฒนธรรมของการสอนที่เอื้อต่อผู้เรียน เลือกใช้การประเมินผลที่เหมาะสม เช่น ประเมินผลโดย Formative 5 ซึ่งมี ๕ ขั้นตอน คือ Observation, Interview, Show me, Hinge Question และ Exit Tasks  และควรปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้เห็นเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ เช่น คณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ต้องยกเลิกการเรียนการสอนแบบเดิมทั้งหมด แล้วเสนอรูปแบบการผลิตครูใหม่ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเติบโตตามที่เขาควรจะเป็น จัดการศึกษาแบบ “การศึกษาเชิงผลิตภาพ” (Productive Education) ให้ผู้เรียนจบการศึกษาด้วยการมีผลงาน (Products) ทุกคน “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน”

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง และ รศ. ดร.พรรณทิพย์  ศิริวรรณบุศย์  ได้เสนอประเด็นเพิ่มเติมดังนี้

  1. โรงเรียนต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบ้านและโรงเรียนอย่างจริงจัง
  2. ต้องกระตุ้นรัฐให้ใส่ใจในการพัฒนาระบบการศึกษาของชาติอย่างจริงจัง

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →