สุนทรียภาพของชีวิตกับสภาพปัญหาของสังคมไทย

ดร.รวิช ตาแก้ว
ภาคีสมาชิก

แนวความคิดที่แตกต่างในการอบรมเรียนรู้โลกและชีวิต สร้างทรรศนะการมองโลกและชีวิตที่แตกต่างกัน สภาพปัญหาสังคมไทยเป็นภาพส่วนย่อยของสังคมโลก ความแตกต่างทางความคิดสร้างทรรศนะในการรับรู้สุนทรียภาพของชีวิตที่แตกต่าง คนไทยยุคใหม่กับยุคเก่าจึงมีทรรศนะที่แตกต่างกัน  ท่ามกลางความแตกต่างในการมองโลกและชีวิตทำอย่างไรให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แนวคิดการรับรู้ทางสุนทรียศาสตร์มีสองแนวคิด คือการรับรู้สุนทรียศาสตร์แบบทางตรงและทางอ้อม การรับรู้สุนทรียศาสต์แบบทางตรงเป็นวิธีการรับรู้และเรียนรู้สุนทรียะตามแนวคิดแบบตะวันตกซึ่งเป็นการรับรู้ เรียนรู้จากสิ่งภายนอกตนเองและแสดงออกตามสิ่งที่ตนชอบและรับรู้ได้ มีข้อดีคือเป็นการรับรู้และเรียนรู้ที่สามารถรับรู้ร่วมกันกับผู้อื่นได้ และการรับรู้สุนทรียศาสต์แบบทางอ้อมเป็นวิธีการรับรู้และเรียนรู้สุนทรียะตามแนวคิดแบบตะวันออก ซึ่งเป็นการรับรู้ เรียนรู้จากรูปแบบสัญลักษณ์เฉพาะตามประเพณี วัฒนธรรมร่วมกับการเข้าใจตนเองซึ่งเป็นสิ่งภายในและเชื่อมโยงไปสู่สิ่งภายนอก แนวคิดในการสร้างสุนทรียภาพของชีวิตที่แท้คือการสร้างความสุขแท้ตามความเป็นจริงตามสัญชาตญาณปัญญามนุษย์ แนวทางการสร้างความสอดคล้องในสังคมยุคใหม่กับยุคเก่าคือ การสร้างการรับรู้ เรียนรู้ทางสุนทรียภาพให้แก่เยาวชนด้วยการผสมผสานความรู้จากภายนอก(แนวคิดการสร้างระบบการรู้ตามแบบตะวันตก)และความรู้จากภายใน(แนวคิดการสร้างระบบการรู้ตามแบบตะวันออก) โดยการใช้หลักความสอดคล้อง สมดุลตามครรลองของแต่ละบุคคลให้เกิดขึ้นจากการเข้าใจตนเองและเรียนรู้ตนเอง เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่า รู้อะไร รู้ทำอย่างไร รู้ว่ามีคุณค่าอย่างไร และสนองตอบต่อเป้าหมายเพื่อสิ่งใดในวิถีชีวิตของตนเองและสังคม

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →