เสถียรภาพทางการเมือง คุณภาพของประชากรและระบบการปกครองกับอนาคตของประเทศไทย

ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม
ราชบัณฑิต

อนาคตของประเทศไทยในเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพ ความยั่งยืนจะเป็นได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำและความรับผิดชอบของประชาชนทุกคนโดยเฉพาะรัฐบาล นักการเมือง และผู้นำทุกระดับในสังคมที่มีอำนาจในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้เกิดความสำเร็จหรือล้มเหลวใน ๕ ประเด็นคือ เสถียรภาพทางการเมือง คุณภาพของประชากร ระบบการศึกษา การดูแลและการตรวจสอบของสังคมโดยมีหลักนิติธรรมกำกับการทำงาน ซึ่งทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบในการทำงานเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

    เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ อาจจะแบ่งตามช่วงระยะเวลาได้ ๔ ช่วงดังนี้ คือ การเริ่มต้น การชะลอตัวหยุดชะงัก ความล้มเหลวและการฟื้นฟู

  1. การเริ่มต้นปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓ รวมเวลา ๔๒ ปี
    รัชกาลที่ ๕ ได้พัฒนาประเทศต่อจากรัชกาลที่ ๔ ด้วยการเน้นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๓ เรื่องคือ การปฏิรูประบบการปกครอง การพัฒนาเศรษฐกิจ และการปฏิรูปคุณภาพของคน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่ดี

    ๒.  การปฏิรูปประเทศได้ชะลอตัวหรือหยุดชะงักลงในรัชกาลที่ ๖ จนถึงการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ รวมเวลา ๗๙ ปี
เกิดการขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกันทางการเมืองระหว่างกลุ่มทหารกับพลเรือนต่อเนื่องมาจน ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ กลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศอยู่เป็นระยะเวลายาวนานเกือบ ๓๐ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๑๖  ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเวลายาวนานถึงปัจจุบัน

    ๓.  ความล้มเหลวของเผด็จการทหารและการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ธุรกิจการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๕๗ รวมเวลา ๖๗ ปี แบ่งอธิบายใน ๔ ด้านดังนี้

  • ด้านเสถียรภาพทางการเมือง
    คณะทหารได้อยู่ในอำนาจติดต่อกันยาวนานประมาณ ๔๐ ปี แต่ไม่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและประชาชนอยู่ดีกินดีได้ ยกเว้นในช่วงคณะทหารสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์  ได้แก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้ดี เป็นเวลาประมาณ ๑๐ ปี คือช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๐
  • ด้านการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
    การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้เปลี่ยนทิศทางด้วยการมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ตามแนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยม ราว พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา
    แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและนโยบายส่งเสริมการลงทุนได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมากในเวลาปัจจุบัน เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจไม่มีแผนหรือมาตรการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคม ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่สมัย จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์  เป็นต้นมา
  • ด้านคุณภาพของคนและระบบของสังคม
    นับตั้งแต่ยุคเผด็จการ พ.ศ. ๒๔๙๐ และยุคประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งธุรกิจการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา รวมเวลา ๖๗ ปี ได้ละเลยการพัฒนาคุณภาพของคนและระบบการทำงานของสังคมเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้ละเลยการพัฒนาภาคการเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ดินป่าไม้ได้ถูกบุกรุกไปมากกว่า ๑๑๐ ล้านไร่ ได้เกิดปัญหาการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรมในสังคมจนถึงปัจจุบัน
    ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีช่องทางที่ก่อให้เกิดการผูกขาดทางการเมืองของธุรกิจการเมืองหรือธนาธิปไตย เนื่องจากความไม่พร้อมของประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และรัฐบาลไม่ได้มีการแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศ แต่กลับใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องที่เป็นผลเสียต่อประเทศ
  • ด้านการฟื้นฟูความสงบและการพัฒนาประเทศกับอนาคตของประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๗ จึงถึงปัจจุบัน
    รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา มีความมุ่งมั่นทางการเมืองและวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๗๙ เพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีในระดับเดียวกันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าพิจารณาจากฐานรายได้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เศรษฐกิจของประเทศไทยจะต้องเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ ๕ ถึง ๖ ต่อปี แต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่คาดว่าจะโตเพียงประมาณร้อยละ ๒.๖ เท่านั้น เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ คงเป็นได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย
    อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้เดินตามแนวทางของพลเอก เปรม  ติณสูลานนท์  คือรักษาความสงบและเสถียรภาพทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตในอัตราที่สูงด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เชื่อมต่อการพัฒนาระหว่างประเทศอาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูง และประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้ามองในแง่ที่ดีแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่ก็จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →

One thought on “เสถียรภาพทางการเมือง คุณภาพของประชากรและระบบการปกครองกับอนาคตของประเทศไทย

  1. Pingback: 2resistant

Comments are closed.