คดีพญาระกา–บทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทย

นายกฤษฎา บุณยสมิต
ภาคีสมาชิก

คดีพญาระกาเป็นคดีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นคดีพิพาทในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เนื่องจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์บทละครชื่อ “ปักษีปกรณัมเรื่องพญารกา” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ มีข้อความหมิ่นประมาทพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ทรงเข้าพระทัยผิดว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องบทละครแล้ว แต่ไม่ทรงว่ากล่าวอย่างไรในกรณีนี้ จึงทรงโทมนัสน้อยพระทัยยิ่ง ทรงเห็นในขณะนั้นว่าไม่มีทางใดจะทำได้อีกนอกจากการลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แล้วพระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปโดยมิได้กราบบังคมทูลลาตามธรรมเนียมของเจ้านาย จากนั้นผู้พิพากษาจำนวน ๒๘ นาย ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือลาออกจากราชการตามไปด้วย  ทำให้เกิดเหตุเสียหายแก่ราชการกระทรวงยุติธรรม เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะผู้พิพากษาศาลรับสั่งทำการชำระคดีซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาพิพากษาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว และต่อมามีพระบรมราชวินิจฉัยให้ลงโทษพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เต็มตามโทษที่กำหนดในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ คดีพญาระกา ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะราชการในกระทรวงยุติธรรมเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดความบาดหมางในระหว่างพระราชวงศ์หลายประการ ประการสำคัญทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับความกระทบกระเทือนพระราชหฤทัยในเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างมากถึงกับทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “รอนชีวิตอย่างแรง” บทเรียนจากคดีพญาระกาจึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่ควรนำมาเป็นตัวอย่างสำหรับประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาบางประการของกระบวนการยุติธรรมไทยปัจจุบัน

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →

One thought on “คดีพญาระกา–บทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทย

  1. Pingback: 1tacking

Comments are closed.