การครุศึกษาไทย : ถึงยุคที่ใครต้องการครูแบบไหนก็ต้องผลิตเอาเอง

ศ. ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
ภาคีสมาชิก

ปัญหาของการเรียนการสอนที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งคือ ครูไม่รู้จักและไม่เข้าใจปรัชญาของการศึกษาที่หลากหลายอย่างเพียงพออ  ไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่าผู้เรียนที่มีความหลากหลาย การเรียนรู้ย่อมมีความแตกต่างกัน  อีกทั้งครูยังมีความรู้ไม่ตรงกับที่ผู้ใช้ต้องการ สถาบันการผลิตครูไม่มีความรู้ที่เพียงพอในทุกเรื่อง การเรียนการสอนเน้นเพียงความรู้ในทางทฤษฎีแต่นำไปปฏิบัติไม่ได้  ทางออกของปัญหาคือ ครูต้องรู้จักเด็กที่ตนสอนนั้นมีความหลากหลาย ดังนั้นการเรียนการสอนจึงต้องมีความหลากหลาย ครูต้องรู้จักเด็กตามสภาพที่เป็นจริง ครูต้องมีประสบการณ์ในการสอนและการสัมผัสกับเด็กมาก่อน ครูต้องได้รับการฝึกฝนและเตรียมตัวเพื่อทำงานในสภาพแตกต่างกัน และที่สำคัญคือ ครูต้องรู้เนื้อหาที่หลากหลายอย่างเพียงพอ  ครูจึงต้องได้รับการปรับปรุง พัฒนา รวมทั้งเรียนรู้ปัญหามาก่อนที่จะทำการสอนในโรงเรียนที่หลากหลาย การเป็นครูนั้นต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน สร้างให้เด็กมีคุณธรรมจริยธรรม สามารถสอนตัวเองได้ มีความคิดสร้างสรรค์ และเติบโตเต็มศักยภาพของเด็ก

การสร้างครูจึงควรมี “หน่วยการสร้างและพัฒนาครู” ในกลุ่มการศึกษาตามความหลากหลาย  เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นครูทุกคนเรียนรู้พื้นฐานของ “ศาสตร์การสอน” ต้องบ่มเพาะเด็กทุกคนให้มีความเป็นไทย รู้ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ฯลฯ  พัฒนาเด็กไทยให้รู้จักคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดรับผิดชอบ คิดผลิตภาพ สามารถสอนให้เด็กรู้จักความเป็นมนุษย์ รู้จักปรับตัว แสวงหาความรู้อยู่เสมอ เป็นครูที่ต้องมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพของเด็กไทยให้ยิ่งใหญ่ ทำงานเต็มตามศักยภาพได้คุณภาพสูงสุด  อบรมและสอนเด็กให้เคารพกฎหมาย รับผิดชอบ ปลูกฝังให้เด็กเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง พร้อมที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มีค่ากว่า และเป็นประโยชน์มากกว่า  เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้คิดใหม่ คิดใหญ่ เพื่อสร้างประเทศไทยให้ก้าวหน้า เป็นผู้นำในภูมิภาคและในโลกต่อไป

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →