นางสุนันท์ ไทยลา
ภาคีสมาชิก
ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ดำเนินการโดยคุญหญิงจันทนี สันตบุตร ณ พื้นที่ ๓๒ ไร่ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมลฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นต้นแบบของการแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยาเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษกรับเยาวชนอายุระหว่าง ๑๖–๒๔ ปีจากสถานฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ๔ แห่ง คือ บ้านกรุณา บ้านมุทิตา บ้านอุเบกขา และศูนย์ฝึกเขต ๒ จ.ราชบุรี เข้ามาฝึกและอบรม โดยเริ่มแรกรับเด็กและเยาวชนที่ศาลส่งฝึกอบรมเป็นระยะเวลา ๑ ปีขึ้นไป และไม่ใช่คดีฆ่าผู้อื่น แต่หลังจากรับเยาวชนฯ ผ่านไป ๒ รุ่น ได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่เป็นวัยเด็กและเยาวชนทุกคดี โดยเน้นความเต็มใจและความร่วมมือของพ่อแม่และผู้ปกครอง รวมทั้งตัวเด็กและเยาวชนด้วยเป็นสำคัญ โดยมีเงื่อนไขในการรับคือ ระยะเวลารวมที่เด็กและเยาวชนถูกพิจารณาจะต้องคงเหลือไม่น้อยกว่า ๑๘ เดือน ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เข้ามาด้วยคดีที่มีความรุนแรง บ้านกาญจนาภิเษกใช้กระบวนการใต้ฐานคิดหลักที่ว่า “บ้านกาญจนาภิเษกไม่เป็นคุก เยาวชนต้องไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นนักโทษ เป็นอาชญากร เจ้าหน้าที่ต้องไม่ทำตัวเป็นผู้คุม แต่บ้านกาญจนาภิเษก คือบ้านทดแทนชั่วคราวของเยาวชนที่ก้าวพลาด ที่พร้อมจะออกไปทำหน้าที่ดูแลคนต้นน้ำรุ่นใหม่และเป็นพลังของสังคมไม่ใช่เป็นภาระของสังคมต่อไป” จากฐานคิดดังกล่าว เป็นที่มาของการออกแบบกระบวนการบ้านกาญจนาภิเษกที่มีความแตกต่างไปจากสถานพินิจแห่งอื่นในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง บ้านกาญจนาภิเษกไม่มีการลงโทษเยาวชนทางร่างกายโดยเด็ดขาด และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมีส่วน “ร่วมคิดร่วมตัดสินใจ” เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์และได้รับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในบ้าน ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก ได้แก่ การเรียนหนังสือ ร้อยละ ๒๕ การเรียนวิชาชีพ ร้อยละ ๒๕ และส่วนสำคัญที่สุดคือ การเรียนวิชาชีวิต ร้อยละ ๕๐ ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นหรือเพิ่มความเป็นพลเมืองและความรู้สึกเชิงคุณค่าให้แก่เยาวชนจนแข็งแรง และยกระดับความรู้สึกนับถือตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง ที่สำคัญคือ เยาวชนสามารถจัดการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาได้อย่างรู้เท่าทันยิ่งขึ้น