ความเสมอภาคในความยุติธรรม

ศ.กีรติ บุญเจือ
ราชบัณฑิต

ความเสมอภาคในความยุติธรรม แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า equality in justice ซึ่งแผลงมาจากภาษาละตินว่า equalitas in justitia คำแรกมีความหมายเหมือน equation ซึ่งแจ่มแจ้งและชัดเจนตามเกณฑ์ของเรอเน เดการ์ต (René Descartes) แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่คำหลังซึ่ง ๔ คำใน ๔ ภาษาวิชาการมีความหมายไม่ตรงกัน คือ ภาษากรีกใช้ว่า dikaiosyne   ภาษาละตินใช้ว่า justitia   ภาษาอังกฤษใช้ว่า justice  ส่วนภาษาไทยใช้ว่า ความยุติธรรม

อาริสโตเติลกล่าวถึงความยุติธรรม (dikaiosyne) ในหนังสือ Nichomachean Ethics ว่ามี ๒ ความหมาย กล่าวคือ ถ้าหมายถึงคุณภาพของบุคคลก็เป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดที่ทำให้บุคคลหนึ่ง ๆ มีความสุขตามสัญชาตญาณปัญญา ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ ๔ (เทียบได้กับฆราวาสธรรม ๔ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ)  ถ้าหมายถึงคุณภาพของกฎหมายก็ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กฎหมายดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติครบ ๓ ประการ คือ ๑. ความเป็นสากล (generality) กฎหมายจะต้องเป็นข้อความสากลที่ใช้ได้กับพลเมืองทุกคนในปัจจุบันและอนาคต  ๒. ความเสมอภาค (equality) มีขอบข่ายการประยุกต์ใช้กับทุกคนในสังคมอย่างเสมอหน้ากันโดยไม่มีการยกเว้นรวมถึงผู้ออกกฎหมายและรักษากฎหมายเองด้วย  และ ๓. การมีช่องโหว่ (fallibility) เนื่องจากในการออกกฎหมายแต่ละครั้ง ผู้ออกกฎหมายมีความรอบคอบในวงจำกัด ไม่อาจรู้การณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ แต่กฎหมายเมื่อออกไปแล้วก็จำเป็นต้องให้มีอำนาจครอบคลุมทุกกรณีที่เป็นไปได้ มิฉะนั้นก็จะไม่เรียกว่ากฎหมาย แต่เป็นแค่ข้อกำหนด (decree)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ และยังต้องเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างทางที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินสู่สนามบิน ทรงตอบประชาชนว่า “หากประชาชนไม่ทิ้งเรา เราจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร”  และเมื่อวันขึ้นครองราชย์ก็ได้ขยายผลพระราชปณิธานเป็นว่า  “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  ซึ่งทรงหมายถึงความยุติธรรมอันชอบธรรมที่ทำให้พสกนิกรของพระองค์ทุกคนมีความสุข  และท้ายสุดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้พระราชทานพระราชวินิจฉัยให้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงออกเผยแพร่แก่มวลชนทุกภาคส่วน เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่รู้เรื่องปรัชญาจะต้องทำความเข้าใจปรัชญาของพระองค์ที่ธำรงความชอบธรรมทั้งด้านบังคับใช้กฎหมายและด้านจริยธรรมที่มีโครงการอบรมอย่างทั่วถึง อันบันดาลความสุขแท้ตามความเป็นจริง ยังผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศของผู้มีความสุขตามปรัชญาความสุขของพระองค์

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →