รศ. ดร.ชาย โพธิสิตา
ภาคีสมาชิก
บทความนี้มีวัตถุประสงค์จะเสนอภาพครอบครัวไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเนื้อหาหลักออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ว่าด้วยครอบครัวไทยในอดีต กับส่วนที่เกี่ยวกับความหลากหลายของครอบครัวในปัจจุบัน
นักวิชาการไทยหลายคนเชื่อกันว่า ในอดีตครอบครัวไทยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจและสังคมพัฒนามากขึ้น รูปแบบการอยู่อาศัยของคนส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยว ความเชื่อนี้อิงอยู่กับแนวคิดที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงครอบครัวในสังคมตะวันตก บทความนี้เสนอว่า ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ในอดีตเป็นครอบครัวเดี่ยว และเป็นเช่นนั้นมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้ แม้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ครอบครัวเดี่ยวจะมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ในปัจจุบันครอบครัวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น จากข้อมูลที่มีอยู่เราอาจจำแนกครอบครัวในปัจจุบันได้ 7 ประเภท คือ (1) ครอบครัวสองรุ่นวัยที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก (2) ครอบครัวที่มีเฉพาะสามีภรรยาไม่มีลูก (3) ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว (4) ครอบครัวสามรุ่นวัยที่ประกอบด้วยปู่ย่า/ตายาย ลูก และหลาน (5) ครอบครัวข้ามรุ่นที่ประกอบด้วยปู่ย่า/ตายายและหลานวัยเด็กอยู่ด้วยกัน (6) ครอบครัวอยู่คนเดียว และ (7) ครอบครัวคนที่ไม่ใช่ญาติ
การเปลี่ยนแปลงทางประชากร เศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาประมาณ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลงมาก คือมีสมาชิกโดยเฉลี่ย 3.1 คนเท่านั้น และครอบครัวทุกประเภท ยกเว้นครอบครัวสองรุ่นวัย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มใหม่ของการอยู่อาศัยเกิดขึ้น คือ ครอบครัวอยู่คนเดียว และครอบครัวคนที่ไม่ใช่ญาติ
การเปลี่ยนแปลงที่นับว่ามีนัยสำคัญและควรได้รับความสนใจเชิงนโยบายเป็นพิเศษ คือการเพิ่มขึ้นของครอบครัวที่มีเฉพาะสามีภรรยา ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวข้ามรุ่น การศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวทั้ง 3 ประเภทนี้มักจะประสบปัญหาความยากจน และปัญหาการเลี้ยงดูเด็กและดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากขาดการสนับสนุนทั้งทางวัตถุ ทางสังคม และทางจิตใจ แต่ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่จะจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัว 3 ประเภทนี้โดยตรง แม้ว่าจะมีมาตรการสำหรับคนในครอบครัวทั่วไปอยู่บ้างก็ตาม ดังนั้นมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยประกันความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวทั้ง 3 ประเภทนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง