สังคมเปิดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Open Society and Democracy)

ผศ.สุนัย ครองยุทธ
ภาคีสมาชิก

บทความนำเสนอทรรศนะทางการเมืองของ เซอร์คาร์ล พอพเพอร์ (Sir Karl Popper, 1920-1994)  นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ทรรศนะทางการเมืองของพอพเพอร์เกิดจากการนำปรัชญาว่าด้วยความเป็นจริง ปรัชญาว่าด้วยความรู้ โดยเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของมนุษย์มาพัฒนาปรัชญาการเมือง พอพเพอร์ได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาเหตุผลนิยมเชิงวิพากษ์ (critical rationalism) มีทรรศนะเกี่ยวกับความเป็นจริง มนุษย์ ความรู้ และการเมือง ต่างกับนักปรัชญาจิตนิยมอย่างเพลโต (Plato) และเฮเกิล (Hegel)  และต่างกับนักปรัชญาวัตถุนิยมอย่างคาร์ล  มาร์ก (Karl Marx) พอพเพอร์แบ่งโลกออกเป็น ๓ ประเภท คือ โลกที่ ๑ (World ๑) คือโลกของวัตถุทางกายภาพ (physical objects) และเหตุการณ์ทางกายภาพตลอดจนสิ่งมีชีวิตต่าง  โลกที่ ๒ คือโลกของกระบวนการทางจิต (mental processes) ของมนุษย์  โลกที่ ๓ คือโลกของความรู้อันเป็นปรวิสัยที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์  ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากโครงสร้างที่ตายตัว แต่ความคิดต่าง ๆ ภายใต้โครงสร้างนี้มีการเปลี่ยนแปลงเรียกว่าเป็นความก้าวหน้า โลกทั้ง ๓ นี้มีความสัมพันธ์กัน ทฤษฎีโลกที่ ๓ นี้ เมื่อนำไปพิจารณาการเติบโตของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พิจารณาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายในประวัติศาสตร์ จะพบว่าการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจำเป็น แต่เป็นการเติบโตและเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้ เป็นกระบวนการวิวัฒนาการโดยไม่ต้องมีแผนการหรือจุดหมายล่วงหน้า ไม่ต้องมีสัต (Being) หรือวิญญาณ (Spirit) หรือพลังชีวิต (Vital Force) แอบแฝงหรือควบคู่ไปกับวิวัฒนาการ การเติบโตและการเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นความก้าวหน้า

เมื่อนำทรรศนะหลักของพอพเพอร์ไปพิจารณาทรรศนะทางสังคมและการเมือง จะพบว่า พอพเพอร์สนับสนุนสังคมและการปกครองที่ส่งเสริมเสรีภาพ ซึ่งพอพเพอร์เรียกว่า สังคมเปิด และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  พอพเพอร์เชื่อว่า ไม่ควรเลือกทฤษฎีการเมืองเพียงทฤษฎีเดียว การปกครองจะเป็นแบบใดก็ได้ที่สามารถปลดรัฐบาลได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง  ส่งเสริมเสรีภาพและไม่กดขี่ประชาชน  แต่ทั้งนี้ สังคมเปิดและการปกครองในระบบอบประชาธิปไตยเป็นสังคมที่คาดการณ์อนาคตได้ยาก เป็นสังคมที่ไม่แน่นอน อาจวุ่นวาย ไม่สงบและเสี่ยงภัย จนสร้างความหวาดหวั่นให้แก่คนในสังคมได้  เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะช่วยกันสร้างความก้าวหน้า ให้คุณค่าอย่างเท่าเทียมต่อความเป็นมนุษย์ผู้มีเสรีภาพและศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลกและชีวิต  ส่วนสังคมปิดแบบเพลโต เฮเกิล และมาร์ก แม้จะให้ความปลอดภัย สงบ เป็นระเบียบ  แต่ก็ขาดความมีส่วนร่วมในการคิดสร้างสรรค์ของคนส่วนใหญ่ในสังคม  อาจถูกกดขี่จนขาดความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์  พอพเพอร์จึงเห็นว่า สังคมปิด ซึ่งส่งเสริมเผด็จการทุกรูปแบบเป็นศัตรูสำคัญของสังคมเปิดและนับว่าเป็นศัตรูของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย

ภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Karl_Popper2.jpg

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →