ปัจจัยเชิงปฏิกิริยาที่ก่อกำเนิดรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
ภาคีสมาชิก

การกำเนิดขึ้นของรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอังกฤษเกิดจากปัจจัยหลากหลายประการที่สะสมกันมาและส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ หรือเรียกว่าเป็น “ปัจจัยเชิงปฏิกิริยา” เริ่มตั้งแต่ “พัฒนาการของการปกครองในอังกฤษ” ซึ่งมีพัฒนาการผ่านระยะเวลามาเกือบพันปีนับแต่การจากไปของชาวโรมันกระทั่งการมีรัฐสภาเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อำนาจเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ค่อย ๆ ถูกจำกัดลงเป็นลำดับ ได้สั่งสมและก่อสร้างรากฐานรูปแบบการปกครองที่มีรัฐสภา มีการแบ่งอำนาจให้แก่ขุนนาง เสนาบดี รวมถึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ต่าง ๆ กระทั่งมาถึงราชวงศ์ทิวดอร์  ซึ่งในช่วงนี้เป็นจุดกำเนิดของ “ปัญหาด้านศาสนาในอังกฤษ” ส่งผลให้มีการแยกนิกายของคริสต์ศาสนาออกมาเป็นนิกายอังกฤษ จนกลายเป็นที่ยึดถือและค่านิยมของชาวอังกฤษว่าพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษจะต้องเป็นโปรเตสแตนต์ที่นับถือนิกายอังกฤษเท่านั้น ปัจจัยเช่นนี้เองที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการปกครองในอังกฤษและก่อให้เกิด “กฎหมายเกี่ยวกับการสืบราชสันติวงศ์” ที่สำคัญได้แก่ พระราชบัญญัติประกาศสิทธิและเสรีภาพของพสกนิกรและการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. ๑๖๘๙ (An Act Declaring the Rights and Liberties of the Subject and Settling the Succession of the Crown 1689) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. ๑๗๐๑ (Act of Settlement 1701) ที่กำหนดบังคับให้พระมหากษัตริย์อังกฤษต้องเป็นโปรเตสแตนต์ และกีดกันเชื้อสายที่มีสิทธิในราชบัลลังก์ที่เป็นโรมันคาทอลิกออกไป ส่งผลกระทบให้เกิดราชวงศ์ฮันโนเวอร์ อันเป็นเชื้อสายที่อยู่ในดินแดนของเยอรมันขึ้นมา และภายใต้สถานการณ์ยุคต้นราชวงศ์ฮันโนเวอร์นี้เอง “นายโรเบิร์ต วอลโพล” นักการเมืองที่มีความสามารถโดดเด่นโดยเฉพาะในการอภิปรายต่าง ๆ ก็เป็นผู้ที่สามารถยึดกุมโอกาสที่เกิดขึ้นเอาไว้ได้ ส่งให้เขามีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของในประวัติศาสตร์อังกฤษ และเป็นรากฐานของรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรีมาถึงปัจจุบัน

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →