รศ.วนิดา ขำเขียว
ภาคีสมาชิก
การศึกษาปรัชญานอกจากเราจะใช้วิธีศึกษาจากงานเขียนในเชิงวิชาการที่แสดงถึงตัวระบบปรัชญา แล้ว เรายังศึกษาได้จากงานเขียนอัตชีวประวัติ ของนักปรัชญาซึ่งทำให้ทราบถึงประวัติชีวิตและลักษณะนิสัยที่ส่งผลให้เกิดแนวคิดทางปรัชญา ดังตัวอย่างซึ่งได้ยกขึ้นมาในที่นี้คือ อัตชีวประวัติของ เซอเร็น อาบี คีร์เคกอร์ด (Søren Aabye Kierkegaard) ผู้เป็นนักปฏิวัติแนวคิดในศตวรรษที่ 19 และเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของลัทธิอัตถิภาวนิยม เพราะเป็นผู้ให้ความสำคัญต่ออัตถิภาวะและนำเสนอ แนวคิดในรูปแบบงานเขียนที่ลดทอนความเป็นวิชาการมาใช้วิธีที่แสดงโวหารในเชิงวรรณกรรม เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าถึงความมีอยู่ของตนเองอันเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องยอมรับและเข้าใจความหมายของการมีอยู่ และรู้ว่าจะอยู่อย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา อันจะนำไปสู่การเลือกและการตัดสินใจอย่างมีเสรีภาพด้วยตนเอง และมีความกล้าที่จะเผชิญกับความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเลือก จึงมีผลต่อจิตใจที่ทำให้สามารถกระโดดขึ้นสู่ระดับขั้นในแต่ละระดับของอัตถิภาวะซึ่งต้องอาศัยการเลือกและการตัดสินใจ คีร์เคกอร์ดแบ่งอัตถิภาวะออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.) ระดับสุนทรียะ 2.) ระดับจริยะ 3.) ระดับศาสนา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการตัดสินใจที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสภาวะนิรันดรภาพ แนวคิดของคีร์เคกอร์ดนี้จึงมีสาระประโยชน์ที่จะทำให้เห็นถึงความสำคัญของอัตชีวประวัติซึ่งสามารถเป็นทางแห่งความรู้ทางปรัชญาที่ผ่านการตรึกตรองของปัญญาในสถานการณ์ที่เป็นจริงอันเปิดเผยให้เห็นถึงแนวคิดทางปรัชญาในเรื่องอัตถิภาวะ ซึ่งเป็นความจริงที่นำไปสู่การเผชิญกับปัญหาและการแก้ปัญหาของมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม