การศึกษาปรัชญาเพื่อชีวิตในยุคสังคมนวัตกรรม

รศ.สิวลี ศิริไล
ราชบัณฑิต

สังคมปัจจุบันช่วงเวลาคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ เกือบทั่วโลกเป็นสังคมนวัตกรรม ซึ่งหมายถึง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในทุกด้านของชีวิตมนุษย์ มีการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ การสร้างสิ่งเดิมให้เปลี่ยนไป การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมไปถึงแนวความคิด วิธีทำงาน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ การดำเนินชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นทุกด้าน  การมุ่งเสริมสร้างให้คนในสังคมเป็นคนเก่ง มีความสามารถที่จะอยู่และใช้เทคโนโลยีได้ถือเป็นเรื่องสำคัญ

คำถามสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ปรัชญาซึ่งเป็นเรื่องของความคิดในขอบข่ายของวิชามนุษยศาสตร์จะยังคงมีประโยชน์และใช้ได้อย่างไรในสังคมนวัตกรรม  ทั้งนี้ เพราะคนส่วนหนึ่งมีความเข้าใจผิดต่อปรัชญาและมองไม่เห็นประโยชน์  การพิจารณาหาคำตอบเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญหลายประการคือ ความเข้าใจความหมายของปรัชญา ลักษณะสำคัญของปรัชญา พัฒนาการของปรัชญาจากอดีตมาถึงปัจจุบัน การเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม ลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวโน้มของการนำปรัชญามาใช้ในชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน

ปรัชญาเป็นเรื่องความคิดของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีภาวะที่มีเหตุผล (rational being) ปรัชญาจึงเกิดขึ้นจากความสงสัยและการพยายามแสวงหาคำตอบด้วยวิธีการคิด  ลักษณะสำคัญของปรัชญาคือ การคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผล (critical thinking) โลกทางวิชาการตะวันตกถือว่าปรัชญาคือบ่อเกิดของวิชาการทั้งหลาย

ย้อนมองจากอดีตสมัยกรีกโบราณประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชที่ปรัชญาเริ่มเกิดขึ้นและมีพัฒนาการมาตลอด จะเห็นว่า ประเด็นปัญหาทางปรัชญาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากทฤษฎีความคิดมาสู่การประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ปรัชญาจึงมีลักษณะของการเป็นปรัชญาทางการปฏิบัติ (practical philosophy)

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความแตกต่างระหว่างปรัชญาตะวันตกกับปรัชญาตะวันออก  ปรัชญาตะวันตกจะแยกจากศาสนา เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลทางความคิด  ขณะที่ปรัชญาตะวันออกได้แก่ ปรัชญาจีน ปรัชญาญี่ปุ่น และปรัชญาอินเดีย จะไม่แยกปรัชญากับศาสนา  คำถามทางปรัชญาจึงปรากฏในศาสนาและมีคำตอบตามความเชื่อและคำสอนของศาสนา             สังคมไทยเป็นสังคมตะวันออก มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีวัฒนธรรมที่ไม่ได้เข้มงวดมากจนเกินไป การใช้หลักคำสอนของศาสนา วิธีการของปรัชญาตะวันตกมาประกอบกันในการใช้ชีวิต การวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ ถือเป็นเรื่องที่คู่กับปรัชญา จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตตามที่โสกราตีส นักปรัชญาเอกของโลกตะวันตกกล่าวว่า ปรัชญาคือวิถีทางแห่งชีวิต (Philosophy was a total way of life.) คนทุกคนสามารถคิดเป็นและเป็นนักปรัชญาด้วยตัวเองได้

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →