ศ.สุดาศิริ วศวงศ์
ภาคีสมาชิก
ประเทศไทยให้ความสำคัญในการคุ้มครองลูกจ้างจากการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายจากการทำงาน โดยตรากฎหมายเงินทดแทนขึ้นมาใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. ๒๔๙๙ และปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ เจตนารมณ์ของกฎหมายเงินทดแทนก็คือ การจัดให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือ และขจัดความไม่แน่นอนในการที่จะเรียกค่าเสียหายที่ได้รับจากการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายจากฝ่ายนายจ้างตามหลักกฎหมายแพ่งในเรื่องละเมิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของนายจ้าง กฎหมายเงินทดแทนเป็นกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องที่ตราขึ้นเป็นการยกเว้นกฎหมายแพ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้ค่าสินไหมสำหรับการละเมิด และจำกัดลงเฉพาะความเสียหายที่มีผลกระทบกระเทือนต่อรายได้และสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้าง ทั้งนี้ เพื่อการคุ้มครองแรงงานและเพื่อเสริมประโยชน์ของอุตสาหกรรม
แม้ว่าจะมีกฎหมายเงินทดแทน และมีกองทุนเงินทดแทนที่เป็นหลักประกันอันมั่นคงในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าและทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐจะต้องตระหนักและร่วมมือกันดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการทำงานขึ้นกับลูกจ้าง โดยลูกจ้างต้องระลึกไว้ตลอดเวลาว่า การทำงานทุกประเภทมีความเสี่ยงภัย มากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะ สภาพ และประเภทของงาน นายจ้างก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเคร่งครัด และรัฐก็ต้องดำเนินการใช้บังคับกฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้ทันต่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องมือ เครื่องจักร วิธีการ กระบวนการในการทำงานเปลี่ยนแปลงไป