ภูมิรัฐประศาสนศาสตร์ ข้ามคาบสมุทรภาคใต้ สรุปดังนี้

ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิก

“ภูมิรัฐประศาสนศาสตร์” หมายถึง ศาสตร์ในการบริหาร จัดการและพัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ผสมกับรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และการต่างประเทศ ภูมิรัฐประศาสนศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศในยุคนี้โดยการศึกษาที่ตั้งของประเทศไทยเชื่อมโยงด้านกายภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน ทะเล และมหาสมุทร ดังนั้นการพัฒนาประเทศข้ามชายแดน จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจโดยมีสาระสำคัญได้ดังนี้

ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของไทยตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง  ติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งประกอบด้วย ๗ รัฐและเขตการปกครองต่าง ๆ มีประชากรประมาณ ๖๐ ล้านคน มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณร้อยละ ๓๐  รัฐในประเทศเมียนมาที่ติดต่อกับประเทศไทยคือ รัฐฉานหรือไทใหญ่ รัฐกะยาห์ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และเขตการปกครองตะนาวศรี  นอกจากนี้มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีน อินเดีย และบังคลาเทศใต้ ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย  มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ แม่น้ำอิระวดี และแม่น้ำสาละวิน และมีความหลากหลายทางกลุ่มประชากร

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ด้านการค้ากับประเทศเมียนมาและใช้เป็นช่องทางผ่านเพื่อการติดต่อกับประเทศอื่น ๆ เช่น ลังกา อินเดีย เปอร์เซีย ยุโรป โดยอาศัยช่องทางกายภาพที่สำคัญ เช่น อ่าวเมาะตะมะ ช่องทางเมืองสำคัญได้แก่ เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี ในสมัยที่เป็นของไทย และในปัจจุบันที่ตั้งของเมืองดังกล่าวซึ่งเป็นเมืองสำคัญด้านธุรกิจและเมืองท่าของประเทศเมียนมา อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดระนองของประเทศไทย จึงเป็นโอกาสการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาและประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกับในอดีต

          จึงเห็นควรว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบันต้องใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อข้ามประเทศ ใช้นโยบายเศรษฐกิจนำ สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแบบไร้พรมแดน เพื่อประโยชน์ทางด้านการค้า การบริการ การท่องเที่ยว

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →

2 thoughts on “ภูมิรัฐประศาสนศาสตร์ ข้ามคาบสมุทรภาคใต้ สรุปดังนี้

  1. Pingback: 3lounged
  2. Pingback: 3commissions

Comments are closed.