ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม
ราชบัณฑิต
การปฏิรูปทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ได้ก่อกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา นับเป็นเวลาเกือบ ๙๐ ปีแล้ว ก็ไม่สามารถทำให้คนไทยทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนกับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามหลังประเทศไทยเกือบ ๓๐ ปี ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยกลับกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงมีความสำคัญมาก ประชาชนจะตัดสินอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความร่มเย็น และทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่มาแล้วจะสามารถทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และทำให้ประชาชนทุกคนอยู่ดีกินดีดังประเทศเพื่อนบ้าน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน หรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ต้องเผชิญปัญหามากมาย ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงพอสังเขป ดังนี้
- เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น อันเกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
- ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าขาออกที่ตกต่ำ และความผันผวนทางเศรษฐกิจของโลก มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๓๕ ล้านคน คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชไร่ ข้าว อ้อย และน้ำตาล
- ความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีปัญหามากขึ้น กำลังจะกลายเป็นฉนวนสงครามกลางเมือง จะป้องกันและแก้ปัญหาอย่างไร
- ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ๒๐ ปี ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ รัฐบาลใหม่จะทำต่อหรือไม่ หรือมีแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ได้ลงทุนทำบางส่วนไปแล้ว และกำลังทำหรือชักชวนต่างประเทศมาร่วมลงทุน ซึ่งมีมูลค่านับหลายล้านบาท จะดำเนินการต่อไปอย่างไรในอนาคต
นอกจากนี้ ก็มีงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงประเทศอีกมากมาย รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายทำต่อหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร