การเปรียบเทียบความรับผิดของผู้ขายวัคซีนสัตว์ปีกที่มีความชำรุดบกพร่องในประเทศสหรัฐอเมริกาและไทย

ศ. ดร.ศักดา ธนิตกุล
ภาคีสมาชิก

การควบคุมโรคมาเร็กซ์ (Marek’s disease) นับได้ว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่สุดต่อความอยู่รอดของการเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ทั่วโลก เนื่องจากโรคมาเร็กซ์เป็นเชื้อไวรัสสัตว์ปีกที่มีความร้ายแรงถึงขนาดที่สามารถทำลายไก่ทั้งฝูงได้  ทั้งนี้ การควบคุมโรคมาเร็กซ์โดยการใช้วัคซีนถือได้ว่าค่อนข้างมีประสิทธิภาพ  ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับที่ ๙ (มีสัดส่วนการผลิตคิดเป็นร้อยละ ๒ ของการผลิตทั้งโลก) และได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ส่งออกไก่เนื้อเป็นอันดับที่ ๕ ของโลก  อนึ่ง ร้อยละ ๓๐-๔๐ ของการผลิตไก่เนื้อของประเทศไทย ถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่น (ร้อยละ ๕๐) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ ๓๕)  ดังนั้น อุตสาหกรรมสัตว์ปีกจึงถือได้ว่าเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย  ในกรณีที่มีการใช้วัคซีนสัตว์ปีกที่มีความชำรุดบกพร่อง ผู้ผลิตสัตว์ปีกควรจะต้องอ้างมูลคดีที่เหมาะสมอันจะนำไปสู่การเรียกร้องให้ผู้ผลิตวัคซีนทำการเยียวยาได้

ข้อเสนอแนะในทางกฎหมายของผู้เขียน คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้ออิสระที่ไก่เนื้อที่เลี้ยงตายและประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ควรต้องฟ้องตามบทบัญญัติของมาตรา ๔๗๒ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ผู้ขายวัคซีนรับผิด แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้ออิสระก็มีภาระการพิสูจน์ตามมาตรา ๔๗๒ ว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง  ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่มีสัญญาเกษตรพันธะกับผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ และมีข้อสัญญาในสัญญาเกษตรพันธะว่า “ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในกรณีที่วัคซีนที่ตนขายให้แก่ผู้ซื้อมีความชำรุดบกพร่อง” ควรฟ้องตามบทบัญญัติมาตรา ๔๗๒ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบมาตรา ๒๖ ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๐ และต้องมีหน้าพิสูจน์ตามบทบัญญัติของมาตรา ๔๗๒ ซึ่งหากสิทธิหน้าที่ของผู้ประกอบการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นไปตามข้างต้นแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ก็จำเป็นที่จะต้องมีการระมัดระวังในการจัดเก็บ การขนส่ง และการให้วัคซีน และมีการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเพียงพอ ชัดเจน เพื่อใช้ในการพิสูจน์ว่าตนเองได้ใช้ความระมัดระวังตามลักษณะอาชีพแล้ว

Academy of Moral and Political Sciences

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Moral and Political Sciences →